การขอวีซ่าและ Work Permit สำหรับแรงงานต่างชาติ

การขอวีซ่า work permit

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจ้างงงานแรงงานต่างชาติหรือที่คนไทยมักเรียกว่า “แรงงานต่างด้าว” เข้ามาทำงานในธุรกิจของตนเอง จะต้องผ่านขั้นตอนของการขอวีซ่าและ Work Permit หรือใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ได้นำมาอธิบายกันแล้ว

Work Permit คืออะไร

Work Permit คือ ใบอนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือมีเหตุให้ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การเป็นพนักงาน ลูกจ้าง ทุกอาชีพที่มีรายได้ต้องดำเนินการยื่นขอเปลี่ยนประเภทการลงตราตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย และมีการเปลี่ยน “วีซ่า” ให้ลงตราเป็น Non-Immigrant Visa “B” ซึ่งเป็นลักษณะของวีซ่าธุรกิจ

เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอวีซ่าทำงานในไทย

ให้แรงงานต่างชาติดำเนินการเปลี่ยนประเภทการลงตราเพื่อให้ได้วีซ่า Non-Immigrant Visa “B” ซึ่งเป็นวีซ่าการทำงาน ปกติสามารถยื่นเรื่องทำได้ก่อนเดินทางมาถึงประเทศไทยโดยไปยื่นเรื่องที่สถานทูตไทยในประเทศนั้น ๆ แต่ในกรณีอยู่ไทยแล้วทว่ายังไม่ได้ทำวีซ่าประเภทนี้มาก็ให้ไปดำเนินการยังสำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองแจ้งวัฒนะ

อย่างไรก็ตามการถือวีซ่าดังกล่าวจะอยู่ได้เพียง 90 วันเท่านั้น ทางนายจ้างต้องยื่นคำร้องกับสำนักตรวจคนเข้าเมืองก่อนหมดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้อยู่ต่อได้อีก 1 ปี

เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอ Work Permit ทำงานในไทย

เมื่อดำเนินการยื่นขอวีซ่าทำงานเป็นเวลา 1 ปีเรียบร้อย ก็มาต่อการด้วยการขอทำ Work Permit ซึ่งแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเมืองไทยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. ต้องได้รับอนุญาตการเข้ามาทำงานชั่วคราวในเมืองไทยโดยมีเอกสาร Non-Immigrant Visa “B” เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจน และไม่ใช่การได้รับอนุญาตจากวีซ่านักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน
  2. มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงานตาที่ได้กำหนดไว้
  3. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต สติฟั่นเฟือน ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ได้แก่ โรคเรื้อน, วัณโรคระยะสุดท้าย, โรคเท้าช้างระยะปรากฏอาการจนเป็นที่รังเกียจจากสังคม, โรคการติดยาเสพติด, โรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคซิฟิลิส ระยะ 3
  4. ไม่เคยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องคนเข้าเมือง หรือกฎหมายการทำงานแรงงานต่างด้าวภายในเวลา 1 ปี

เอกสารสำหรับการขอ Work Permit

  • แบบคำขอ ต.ม.1 รูปถ่าย 1 นิ้วครึ่ง 3 รูป (ไม่เกิน 6 เดือน)
  • หนังสือยื่นเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อชี้แจงเหตุผลในการจ้างแรงงานต่างด้าว
  • สัญญาจ้าง / หนังสือรับรองการจ้างงาน
  • ใบรับรองแพทย์
  • สำเนาพาสปอร์ต / ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ / ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวฉบับจริง
  • สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (เฉพาะวิชาชีพที่กฎหมายกำหนด)
  • หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง ติดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (หากนายจ้างเป็นต่างด้าว ให้ใช้สำเนาใบอนุญาตทำงาน)

หากธุรกิจต้องจ้างแรงงานต่างด้าวก็ควรทำอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลทางกฎหมาย และงานที่ออกมาก็มีประสิทธิภาพด้วย