บริษัทซื้อทองแจกพนักงาน ใครมีหน้าที่เสียภาษีในเรื่องไหนบ้าง

ซื้อทองแจกพนักงาน

หลายบริษัทเมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น วันครบรอบบริษัท, เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ วันพิเศษต่าง ๆ ก็มักมีการมอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับพนักงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจเสมอ แม้กระทั่งใครที่ทำงานได้ตามเป้าหมายด้วย ซึ่งหนึ่งในของขวัญที่มักพบเจอได้บ่อยมากคือ “ทองคำ” ไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณ อาทิ สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, แหวน หรือทองแท่งก็ตาม เมื่อบริษัทลงทุนซื้อทองแจกพนักงานแบบนี้ย่อมมีเรื่องของภาษีเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วภาษีต่าง ๆ มีเรื่องไหนบ้าง ไปศึกษาข้อมูลพร้อมกันเลย

บริษัทซื้อทองแจกพนักงาน กับเรื่องภาษีที่เกิดขึ้น

ปกติแล้วเมื่อหน่วยงานหรือองค์กรใดที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล เมื่อมีการซื้อทองคำแจกให้กับพนักงานในกรณีต่าง ๆ จะมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

การซื้อทองคำเพื่อมอบให้กับพนักงานถือเป็นรายจ่ายอย่างหนึ่งที่ทางบริษัทต้องเสีย ดังนั้นจึงสามารถนำเอารายจ่ายดังกล่าวที่เกิดขึ้นมาคำนวณเป็นอีกต้นของทางบริษัท จึงทำให้เกิดการเสียภาษีนิติบุคคลเป็นประเภทภาษีขายที่บริษัทไม่ได้มีการเรียกเก็บจากพนักงาน ตรงส่วนนี้ทางกรมสรรพากรจะให้ความหมายว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 64 ตรี (6 ทวิ)

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

หลังซื้อทองคำมอบให้กับพนักงานแล้วบริษัทต้องนำมูลค่าของทองคำทั้งหมดมารวมกันเพื่อคำนวณมูลค่าฐานภาษีสำหรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในเดือนภาษีที่มีการแจกทองคำเกิดขึ้น เหตุเพราะนี่คืออีกรูปแบบของการขายสินค้า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1 (8) อย่างไรก็ตามหากไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีจากตัวพนักงานก็ไม่ต้องออกหลักฐานใบกำกับภาษี รวมถึงยังสามารถนำภาษีซื้อที่ได้ทำการซื้อทองคำไปทำเครดิตหักภาษีขายสำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย

  1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีอีกประเภทที่คราวนี้เป็นหน้าที่ของตัวพนักงานกันบ้าง เมื่อมีการรับรางวัลเป็นทองคำที่มีมูลค่าจากทางบริษัท จะต้องมีการถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอันเป็นไปตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50 (1) โดยทางบริษัทจะมีการนำเอามูลค่าของทองคำไปรวมอยู่ในรายได้ของพนักงานคนดังกล่าวแล้วหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่งให้กับกรมสรรพากรตามปกติ

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ประเภทสุดท้ายเมื่อพนักงานได้รับทองคำจากบริษัท ถือเป็นรายรับของตนเองก็ต้องถูกนำไปรวมเป็นรายได้จากการจ้างงานปกติตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1) เมื่อถึงสิ้นปีรายได้ส่วนนี้จึงถูกคำนวณเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน

นี่คือเรื่องราวของการซื้อทองแจกพนักงานแล้วฝ่ายไหนต้องเสียภาษีอย่างไรบ้าง อย่าลืมนำไปศึกษากัน เพราะภาษีเป็นเรื่องของทุกคน หากเกิดข้อผิดพลาดแล้วจะมีปัญหายุ่งยากตามมา กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวไปเปล่า ๆ นะ

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/210

วันที่ : 12 มกราคม 2560

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากการให้ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (1) ประกอบมาตรา 42 (28) มาตรา 48 และมาตรา 50 (1)
ข้อหารือ ธนาคาร ได้ให้ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน (ของที่ระลึกฯ) แก่พนักงานที่อายุการทำงานครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ และก่อให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยมอบในพิธีคล้ายวันสถาปนา ธนาคาร. ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน ทั้งนี้ ของที่ระลึกฯ ที่มอบให้พนักงานดังกล่าวจัดทำด้วยทองคำหรือทองคำประดับเพชรแสดงสัญลักษณ์ของ ธนาคารฯ. มูลค่าตามสมควร ไม่เกินฐานานุรูปของพนักงาน เนื่องจาก ธนาคารฯ. มีเจตนาให้พนักงานเก็บไว้เป็นที่ระลึกไม่นำไปจำหน่ายจ่ายแจก กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ธนาคาร ฯ จึงขอหารือว่าการให้ของที่ระลึกฯ ในพิธีวันคล้ายวันสถาปนา ธนาคาร.ฯ ถือเป็นเงินได้ของพนักงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ และหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่

แนววินิจฉัย

กรณีที่ ธนาคารฯ ได้มอบของที่ระลึกฯ ให้แก่พนักงานที่อายุการทำงานครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด มูลค่าของของที่ระลึกฯ ดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกรณีดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าของของที่ระลึกฯ ที่ได้รับ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร และ ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร