คริปโตเคอร์เรนซี หรือ ทรัพย์สินดิจิทัล กับการเสียภาษี

ภาษีคริปโต

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ได้ออกมาเพื่อแก้ไขกฎหมายมาตร 40 และ มาตรา 50 โดยมีส่วนที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

มาตรา 40

(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล

(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

มาตรา 50

(ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้

ข้อมูลจาก กรมสรรพากร

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

1. หากได้กำไรจากการเทรดสินทรัพย์ดิจิตัล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรส่วนต่าง ตามเงินได้ 40(4)(ฌ), 50(2)/(ฉ) ประมวลรัษฎากร

เช่น ได้กำไร 200,000 บาท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30,000 บาท

2. หากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์นั้นด้วย ตามเงินได้มาตรา 40(4)(ซ), 50(2)/(ฉ) ประมวลรัษฎากร

เช่น ได้รับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร 20,000 บาท จะถูกหัก ณ ที่จ่าย 3,000 บาท

ยื่นภาษีประจำปี

รายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว แต่ก็ยังต้องนำมายื่นภาษีประจำปีในมาตรา 40(4) ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างกับรายได้จากกรลงทุนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลอย่างชัดเจน ที่สามารถเลือกให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ โดยที่ไม่ต้องนำมายื่นภาษีอีกครั้ง