ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ค่าบริการซ่อมและค่าอะไหล่

ค่าบริการ ค่าอะไหล่

การให้บริการซ่อมแซมที่มีค่าอะไหล่และค่าแรง

ไม่ว่าใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าอะไหล่และค่าบริการจะแยกออกเป็น 2 ฉบับ เป็นค่าอะไหล่หนึ่งฉบับและค่าบริการอีกหนึ่งฉบับ หรือออกใบกำกับภาษีฉบับเดียวแต่แยกรายการค่าอะไหล่หนึ่งรายการและค่าบริการอีกหนึ่งรายการ จะเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย จากยอดรวมมูลค่าอะไหล่และค่าบริการซ่อมแซม โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3

เลขที่หนังสือ : กค 0811/7660

วันที่ : 2 สิงหาคม 2544

เรื่อง : ภาษีเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการซ่อมรถยนต์

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40

ข้อหารือ

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อขาย และมีพนักงานขายของบริษัทฯ เอง บริษัทฯ มีปัญหาเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้

  1. กรณีค่าซ่อมรถ พนักงานขายของบริษัทฯ ได้นำรถยนต์ของบริษัทฯ เข้าซ่อมที่ ต่างจังหวัดตามศูนย์บริการของอีซูซุและโตโยต้า เมื่อซ่อมแล้วทางศูนย์บริการออกบิลค่าซ่อมและ ค่าอะไหล่แยกออกจากกันแต่เป็นชื่อบริษัทเดียวกัน บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากบิลยอดไหน อย่างไร
  2. จากกรณีข้อ 1 ถ้าศูนย์บริการคิดแต่ค่าอะไหล่อย่างเดียว ไม่มีค่าแรง จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไร

แนววินิจฉัย

  1. การที่บริษัทฯ ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ O และ G ในต่างจังหวัด เมื่อซ่อมแล้วศูนย์บริการได้ออกบิลค่าแรงและค่าอะไหล่แยกออกจากกัน แต่เป็นชื่อบริษัทเดียวกัน กรณีนี้ถือได้ว่าศูนย์บริการผู้รับจ้างประกอบกิจการรับจ้างซ่อมรถยนต์ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ เมื่อศูนย์บริการฯ เป็นผู้จัดหาอะไหล่เพื่อใช้สำหรับการซ่อมรถยนต์เอง รายรับของศูนย์บริการฯ จึงต้องรวมทั้งค่าแรงและค่าอะไหล่ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการซ่อมรถยนต์ให้แก่ศูนย์บริการฯ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของยอดเงินที่จ่ายทั้งที่เป็นค่าแรงและค่าอะไหล่ ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2530
  2. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าศูนย์บริการฯ เรียกเก็บค่าอะไหล่อย่างเดียว โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าแรงด้วย บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของยอดเงินที่จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

เลขที่หนังสือ : กค 0811/พ.04900

วันที่ : 27 เมษายน 2541

เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าบริการซ่อมและค่าอะไหล่

ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 เตรส, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530

ข้อหารือ

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจนำเข้าเพื่อจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงาน เช่น เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องโทรสารเครื่องพิมพ์ ฯลฯ เมื่ออุปกรณ์สำนักงานที่จำหน่ายขัดข้องลูกค้าจะโทรแจ้งบริษัทฯ ให้ส่งช่างไปซ่อม โดยบริษัทฯ จะคิดค่าใช้จ่ายในการซ่อมเป็น 2 กรณี คือ

  1. กรณีที่ซ่อมโดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับชำระค่าบริการซ่อมโดยคิดค่าบริการซ่อมครั้งละ 550 บาท
  2. กรณีที่ซ่อมโดยต้องเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีแยกเป็น 2 ใบ ดังนี้

2.1 ใบกำกับภาษีสำหรับค่าบริการซ่อมครั้งละ 550 บาท

2.2 ใบกำกับภาษีสำหรับค่าอะไหล่ ออกให้เมื่อส่งมอบอะไหล่ให้แก่ ลูกค้า มิใช่เมื่อซ่อมเสร็จหรือเมื่อได้รับชำระค่าอะไหล่

จึงขอทราบว่า บริษัทฯ ได้รับชำระค่าบริการซ่อมและได้รับชำระค่าอะไหล่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวบริษัทฯ ควรจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

แนววินิจฉัย

กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว รายรับที่ได้จากการให้บริการ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการซ่อมเป็นการเหมาหรือแยกค่าบริการเป็นค่าบริการซ่อมและค่าอะไหล่ การประกอบกิจการดังกล่าวถือเป็นการให้บริการรับจ้างซ่อมทั้งหมด หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ที่จ่าย ตามข้อ 8 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2530