การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวคืออะไร

การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

สำหรับชาวต่างชาติหรือที่เรียกว่า “คนต่างด้าว” จะเข้ามาประกอบธุรกิจในเมืองไทย ต้องมีการทำตามกฎหมายที่ระบุเอาไว้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดข้อเสียเปรียบสำหรับคนไทยที่สนใจดำเนินการในด้านธุรกิจประเภทนั้น ๆ มาศึกษาข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องนี้เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม ลดปัญหาข้อผิดพลาดและอื่น ๆ อันนำมาสู่ปัญหาขัดต่อข้อกฎหมาย

การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวคืออะไร

ในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คือ เจ้าของธุรกิจที่อยู่ในเมืองไทยไม่ได้มีสัญชาติไทย รวมถึงนิติบุคคลที่ไม่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มนิติบุคคลที่อาจทำการจดทะเบียนในประเทศไทยแต่เข้าข่ายมีหุ้นส่วนของชาวต่างชาติมากกว่าหรือเท่ากับ 50%

สำหรับคนต่างด้าวที่จะทำธุรกิจในเมืองไทยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 ที่จะมีข้อห้ามไม่ให้ประกอบธุรกิจบางประเภทเพื่อสงวนสิทธิ์กับคนไทยที่ยังขาดความชำนาญหรือยังขาดความพร้อมด้านการแข่งขันจนกว่าคนไทยจะมีความสามารถมากพอ ด้วยเหตุนี้เองหากชาวต่างชาติหรือคนต่างด้าวจะทำธุรกิจใด ๆ ต้องมีการขออนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและผ่านการอนุมัติเรียบร้อย จึงสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่ตนเองวางแผนเอาไว้

บทลงโทษสำหรับคนต่างด้าวที่ไม่ทำตามกฎหมายประกอบธุรกิจ

สำหรับนักลงทุนหรือคนต่างด้าวที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยแต่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวต้องมีการรับโทษตามมาตรา 37 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า หากคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจแล้วฝ่าฝืนตามมาตรา 6, 7, 8 มีการระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสน – 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งศาลมีสิทธิ์เพิ่มคำสั่งให้เลิกประกอบธุรกิจดังกล่าว เลิกกิจการ เลิกเป็นผู้ถือหุ้น เลิกการเป็นหุ้นส่วน (ขึ้นอยู่กับกรณี) เมื่อบทลงโทษออกมาแล้วยังฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ยังต้องมีการระวางโทษปรับวันละ 1-5 หมื่นบาท นับตามจำนวนที่ยังคงฝ่าฝืนด้วย

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจต่างด้าว 2542 จะห้ามไม่ให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในเมืองไทย แต่ก็ยังมีมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันที่บัญญัติเอาไว้ กรณีธุรกิจของผู้ประกอบการต่างด้าวได้รับการส่งเสริมด้านการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน หรือกรณีได้รับอนุญาตเป็นเอกสาร หนังสือสำหรับประกอบอุตสาหกรรม ประกอบการค้าเพื่อส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือเป็นไปตามกฎหมายฉบับอื่น ๆ การเป็นธุรกิจตามบัญชีสองหรือบัญชีสามท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว คนต่างด้าวต้องแจ้งต่ออธิบดีในการขอหนังสือรับรอง เมื่อมีการตรวจสอบเรียบร้อยอธิบดีจะออกหนังสือภายใน 30 วัน เพื่อให้ได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ. เว้นเฉพาะมาตรา 21, 22, 39, 40, 42 ตลอดการทำธุรกิจ