เทคนิคการตั้งชื่อบริษัท สำหรับผู้เริ่มต้นจดบริษัท

ตั้งชื่อบริษัท

สำหรับผู้ประกอบการใหม่ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลอย่างถูกต้อง สิ่งแรกของการเริ่มต้นจดทะเบียน คือ การตั้งชื่อบริษัท อาจจะฟังดูเหมือนเป็นขั้นตอนที่ง่าย และสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริง การตั้งชื่อที่ใช้สำหรับจดทะเบียนนั้น จะต้องตรงตามข้อบังคับของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ในบางครั้งชื่อที่ผู้ประกอบการต้องการ อาจไม่ผ่านการจองชื่อ เนื่องจากไม่ตรงตามที่กรมพัฒนาธุรกิจกำหนด ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาในขั้นตอนการจอง วันนี้เราจึงมาบอกเคล็ดลับในการตั้งชื่อบริษัทให้ตรงใจกรมพัฒฯ และเทคนิคดี ๆ ในการตั้งชื่อให้น่าสนใจสำหรับธุรกิจแบบเข้าใจง่าย ๆ กันค่ะ

เทคนิคการตั้งชื่อบริษัทให้ปัง และถูกต้องตามกรมพัฒฯ

  1. ชื่อที่ใช่ ต้องไม่ซ้ำใคร

แน่นอนว่าตามหลักการตั้งชื่อของกรมพัฒฯ ชื่อบริษัทจะไม่สามารถตั้งชื่อซ้ำหรือใช้ชื่อที่มีการออกเสียงคล้ายครึงกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ฉะนั้นจึงควรมีการเช็คชื่อที่ตั้งก่อนทำการจอง โดยสามารถเช็คได้ผ่านทางเว็ปไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อน เพื่อความสะดวกในการทำขั้นตอนการจองชื่อ

 

  1. อักขระพิเศษเป็นสิ่งต้องห้าม

ข้อควรระวังสำหรับการตั้งชื่อบริษัท ไม่ว่าจะภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ ห้ามใช้อักขระพิเศษประกอบอยู่ในชื่อบริษัท เช่น @ # * + – / _ – = ? [ ] เป็นต้น

 

  1. ตัวสะกดและความหมายต้องเหมือนกัน

ตัวสะกดภาษาไทยกับภาษาอังกฤษต้องเหมือนกัน และมีความหมายที่เหมือนกัน เช่น ชื่อภาษาไทยคือ บริษัท ชิค แอคเคาน์ติ้ง จำกัด ชื่อภาษาอังกฤษคือ Chic Accounting Co., Ltd. หรือถ้าอยากใช้ตัวย่อควรมาจากอักษรตัวแรกเท่านั้น

 

  1. ต้องไม่ตั้งชื่อที่กรมพัฒฯ ห้าม

กรมพัฒฯ ได้ระบุข้อบังคับการตั้งชื่อไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องไม่มีข้อความ ดังนี้ ในการตั้งชื่อ คือ

  • ไม่มีคำหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับพระนามของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์
  • ไม่มีคำหรือข้อความที่ใกล้เคียงกับชื่อกระทรวง หน่วยงานราชการ หรือองค์กรขอรัฐ
  • ไม่มีชื่อประเทศ เว้นแต่จะอยู่ต่อท้ายชื่อ และอยู่หน้าคำว่าจำกัด เช่น บริษัท แสนดี (ประเทศไทย) จำกัด
  • ชื่อบริษัทต้องไม่ขัดกับนโยบายของรัฐหรือความสงบของประชาชน
  • ชื่อหรือคำที่ไม่สามารถตั้งได้ตามที่กรมพัฒนฯกำหนด เช่น กู้เกียรติไทย ตำรวจ ทหาร เป็นต้น

นอกจากการตั้งชื่อตามข้อบังคับของกรมพัฒฯ แล้ว เรายังขอเพิ่มเกร็ดน่ารู้สำหรับการตั้งชื่อแบรนด์ ดังนี้ค่า

  1. ชื่อแบรนด์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ถึงแม้ว่าการตั้งชื่อกิจการจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับของกรมพัฒฯ แต่อย่าลืมว่าการตั้งชื่อกิจการไม่ได้ใช้เพื่อการตั้งชื่อเพียงอย่างเดียว แต่กิจการยังใช้ชื่อแบรนด์ในการสร้างชื่อเสียง ทำการตลาดผ่านชื่อแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ชื่อแบรนด์จึงไม่ใช่เพียงแค่ชื่อ แต่ยังแสดงถึงภาพลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น การตั้งชื่อสินค้าที่ดี ควรมีความกระชับ จดจำง่าย แสดงถึงตัวตนของแบรนด์ รวมทั้งยังควรเป็นคำที่อ่านและสะกดได้ง่าย สามารถนำไปบอกต่อหรือรีวิวได้ และเมื่อนึกถึงชื่อแบรนด์ก็สามารถทำให้ผู้บริโภค นึกถึงสินค้าและบริการของคุณ

  1. อนาคตต้องยิ่งใหญ่

          ใครจะรู้ว่ากิจการที่เริ่มต้นใหม่ หรือธุรกิจเล็ก ๆ ในวันนี้ อาจเป็นธุรกิจระดับประเทศ หรือระดับโลกได้ในอนาคต ฉะนั้น เพื่อให้สามารถขยับขยายได้ง่าย ควรตั้งชื่อแบรนด์ที่สามารถใช้ได้นาน เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ๆ ไม่เฉพาะเจาะจงเกินไป เผื่อไว้สำหรับในอนาคตข้างหน้า หากผู้ประกอบการอยากขยับขยายธุรกิจ หรือเพิ่มสินค้าหรือบริการให้มีความครอบคลุมและหลากหลาย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน

 

  1. อย่างตั้งชื่อแบรนด์ด้วยชื่อของตัวเอง

การตั้งชื่อตัวเองเป็นชื่อกิจการอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก แต่สำหรับการจดทะเบียนบริษัทการใช้ชื่อตัวเองนำมาตั้ง อาจเกิดความยุ่งยากได้ เนื่องจากอาจมีชื่อซ้ำซ้อน อีกทั้งในทางธุรกิจ การนำชื่อตัวเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัทหรือกิจการ อาจทำให้ไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากเท่าที่ควร ดูไม่น่าสนใจ เว้นแต่ว่าตัวคุณจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าจากชื่อของตัวเองได้

 

  1. อย่าตั้งชื่อแบรนด์เหมือนคู่แข่ง

ในทางธุรกิจการตั้งชื่อบริษัทซ้ำกับชื่อของคนอื่นก็ไม่ส่งผลดี  อาจส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทแย่ลง เนื่องจากผู้บริโภคอาจคิดว่ามีการเลียนแบบ จดเกิดเป็นอคติต่อตัวแบรนด์ และทำให้เกิดความสับสนแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้า หรือรับบริการ ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความโดดเด่นจากคู่แข่ง คุณควรตั้งชื่อให้มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เพื่อความน่าสนใจ และเป็นที่จดจำ โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมาก

 

  1. อย่าใช้คำยากในการตั้งชื่อ

ชื่อบริษัทควรเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำ น่าสนใจ  แต่ถ้าหากกิจการเลือกใช้ชื่อที่ยากหรือแปลกเกินไป ย่อมส่งผลต่อการสะกดและออกเสียง นอกจากจะทำให้จำชื่อแบรนด์ได้ยากแล้ว ยังส่งผลต่อการเรียกและสะกดของผู้บริโภค อาจเกิดความไม่มั่นใจในการออกเสียง อีกทั้งชื่อที่ยากทั้งการออกเสียงและการสะกด ยังทำให้เกิดความยุ่งยากในการติดต่อกับราชการ ทำให้งานผิดพลาดได้ง่ายและอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในอนาคต  นอกจากนี้เรายังไม่แนะนำให้กิจการเลือกใช้คำที่ผวนได้ ซึ่งการผวนอาจได้คำหรือความหมายที่ไม่ดี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชื่อแบรนด์ได้นั่นเอง

 

การตั้งชื่อบริษัท ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่กิจการควรให้ความใส่ใจ เพราะนอกจากจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ยังใช้เพื่อโปรโมทสินค้าบริการและทำการตลาดภายใต้ชื่อกิจการอีกด้วย ดังนั้น จึงควรตั้งชื่อให้เหมาะสม เป็นไปตามข้อบังคับของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ซ้ำหรือเลียนแบบ อ่านหรือสะกดคำได้ง่าย ไม่ใช้คำที่ยากหรือแปลกเกินไป เพื่อให้ง่ายต่อการจดทะเบียน การจจดจำของกลุ่มลูกค้าและสะดวกในการติดต่อราชการ