การขายสินค้าและค่าขนส่ง

ขายสินค้าและค่าขนส่ง

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจผลิต และธุรกิจการให้บริการ

หลักการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับค่าขนส่งอันเนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร นั้น พอสรุปความได้ดังนี้

1. กรณีผู้ประกอบการมิได้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ให้ถือเอาค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าหรือค่าบริการ ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ไม่ว่าผู้ประกอบการจะรวมค่าขนส่งไว้ในราคาสินค้าหรือค่าบริการ หรือแยกค่าขนส่งต่างหากจากราคาสินค้าหรือค่าบริการ และ
  • ไม่ว่าผู้ประกอบการจะทำการขนส่งยานพาหนะของตนเอง หรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นขนส่งให้ก็ตาม

กรณีแสดงรายการค่าขนส่งคนละฉบับกับใบกำกับภาษีสำหรับค่าสินค้าหรือค่าบริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องออกใบเพิ่มหนี้ สำหรับค่าขนส่ง เพราะเป็นราคาสินค้าหรือค่าบริการส่วนเพิ่ม ตามมาตรา 82/9 และมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ตัวอย่าง

ห้างฯ ขายน้ำตาลทรายพร้อมขนส่งให้ด้วย ตามข้อเท็จจริงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมูลค่าของฐานภาษี คือราคาของสินค้าซึ่งรวมค่าขนส่งตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ห้างฯ ต้องออกใบกำกับภาษีโดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าน้ำตาลและค่าขนส่ง (กค 0811/พ.16253 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540)

กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการให้บริการดำเนินการออกของจากการท่าเรือและให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วย หากบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ แม้บริษัทฯ จะได้ให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะใช้ยานพาหนะของตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากราคาค่าบริการออกของได้หรือไม่ บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของการให้บริการขนส่งมารวมกับค่าบริการออกของเพื่อรวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการ เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811(กม.06)/พ.1664 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543)

การให้บริการบรรทุกสินค้าจากโรงงานของลูกค้ามายัง สำนักงานของบริษัทฯ เพื่อฝากเก็บและไปส่งที่โรงงานของลูกค้า โดยเรียกเก็บค่าบริการเหมารวมค่าขนส่งและค่าบริการฝากเก็บ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0706/พ./3632 ลงวันที่ 18 เมษายน 2546)

 

2. กรณีผู้ประกอบการประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ไม่ต้องถือเอาค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยผู้ประกอบการได้แยกค่าบริการขนส่งต่างหากจากราคาสินค้าและค่าบริการ

  • ไม่ว่าผู้ประกอบการจะแสดงรายการค่าขนส่งไว้ในใบกำกับภาษี หรือแยกแสดงไว้ในเอกสารอื่นต่างหาก และ
  • ไม่ว่าผู้ประกอบการจะทำการขนส่งยานพาหนะของตนเอง หรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นขนส่งให้ก็ตาม

ค่าบริการรับจ้างขนส่งดังกล่าว เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของค่าบริการขนส่ง

 

ตัวอย่าง

กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการคลังสินค้า (รับฝากสินค้า) พร้อมขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ หากบริษัทฯ สามารถแยกค่าขนส่งและราคาค่าบริการเก็บรักษาสินค้าออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการเก็บรักษาสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการดังกล่าวตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า จึงมีสิทธิแยกคำนวณค่าขนส่งต่างหากจากค่าบริการคลังสินค้าได้ (กค 0706/พ./4804 ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2549)

การประกอบกิจการรับส่งพนักงานนำร่องระหว่างท่าเทียบเรือศูนย์รักษาร่องน้ำกับเรือบรรทุกสินค้าที่จะเข้าเทียบท่า และรับขนส่งสินค้าหรือคนโดยสารระหว่างฝั่งกับเรือบรรทุกสินค้า โดยคิดค่าขนส่งเป็นรายเที่ยว ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811/พ.05399 ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2542)

ธนาคารฯ ได้ทำสัญญาจ้างขนส่งกับบริษัทฯ ให้ดำเนินการขนส่งเอกสารจากที่หนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งโดยไม่มีการให้บริการใดเพิ่มเติม ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0706/พ./6030 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550)

การให้บริการขนส่งนอกบริเวณท่าเรือโดยให้บริการรถหัวลาก รถพ่วง รถบรรทุกเพื่อบรรทุกสินค้าหรือลากตู้สินค้าจากท่าเรือมาบริษัทฯ หรือโรงงานของลูกค้าหรือในทางกลับกันเป็นการบรรทุกสินค้าหรือลากตู้สินค้าจากบริษัทฯ หรือโรงงานของลูกค้าไปท่าเรือ และการให้บริการลากตู้เปล่าจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง โดยไม่ได้ให้บริการอื่นใดอีก และได้กระทำนอกบริเวณท่าเรือหรือนอกบริเวณที่ต่อเนื่องกับท่าเรือ เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการขนส่งในราชอาณาจักร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0706/พ./3632 ลงวันที่ 18 เมษายน 2546)

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

  • ค่าบริการ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 3
  • ค่าขนส่ง ภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 1

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ค่าบริการ ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7
  • ค่าขนส่ง ได้รับการยกเว้น

อากรแสตมป์

  • สัญญาบริการต้องติดอากร
  • สัญญาขนส่งไม่ใช่สัญญาจ้างทำของไม่ต้องติดอากร

 

ธุรกิจซื้อมาขายไป

กิจการขาย + บริการติดตั้ง

  • รวมยอด คิด VAT 7% ทั้งค่าสินค้าและค่าบริการ ไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • แยกยอด/บิล คิด VAT 7% ทั้งค่าสินค้าและค่าบริการ ไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • แยกยอด/บิล ค่าบริการ คิด VAT 7% และ หัก ณ ที่จ่าย 3%

 

กิจการขาย + จัดส่งให้ (กิจการไม่ได้ประกอบกิจการขนส่ง)

  • รวมยอด คิด VAT 7% ทั้งค่าสินค้าและค่าขนส่ง ไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • แยกยอด/บิล คิด VAT 7% ทั้งค่าสินค้าและค่าขนส่ง ไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • แยกยอด/บิล ค่าขนส่ง คิด VAT 7% และไม่หัก ณ ที่จ่าย

 

กิจการขาย + จัดส่งให้ (กิจการประกอบการกิจการขนส่งเป็นปกติ)

  • รวมยอด คิด VAT 7% ทั้งค่าสินค้าและค่าขนส่ง ไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • แยกยอด/บิล คิด VAT 7% ทั้งค่าสินค้าและค่าขนส่ง ไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • แยกยอด/บิล ค่าขนส่ง ไม่คิด VAT 7% และหัก ณ ที่จ่าย 1%

 

ธุรกิจบริการ

ค่าบริการ + อะไหล่ /วัสดุ

  • รวมยอด คิด VAT 7% ทั้งค่าบริการและค่าอะไหล่ /วัสดุ หัก ณ ที่จ่าย 3%
  • แยกยอด/บิล คิด VAT 7% ทั้งค่าบริการและค่าอะไหล่ /วัสดุ หัก ณ ที่จ่าย 3%
  • แยกยอด/บิล ค่าวัสดุ / อะไหล่ คิด VAT 7% และ หัก ณ ที่จ่าย 3%

 

ธุรกิจรับจ้างผลิต

สัญญาจ้างทำของต้องติดอากรแสตมป์

คิด VAT 7% และหัก ณ ที่จ่าย 3%

 

ธุรกิจขายและผลิต

  • ผลิตสินค้าขายเป็นปกติ + ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยตามแบบของผู้ว่าจ้าง เช่น สี โลโก้ ถือว่าเป็นการขายสินค้า คิด VAT 7% และไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • ผลิตสินค้า + ใช้วัสดุของผู้ว่าจ้าง เป็นการมุ่งความสำเร็จของงานจะถือว่าเป็นการบริการ คิด VAT 7% และหัก ณ ที่จ่าย 3%
  • ผลิตสินค้า + วัสดุผู้รับจ้างจัดหามาให้เป็นพิเศษแตกต่างจากที่ทำอยู่ เป็นการมุ่งความสำเร็จของงานจะถือว่าเป็นการบริการ คิด VAT 7% และหัก ณ ที่จ่าย 3%