ดอกเบี้ยจากการที่กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท

กรรมการกู้เงินแทนบริษัท

กรรมการกู้ยืมเงินแทนกิจการ

กรรมการอาจมีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินแทนบริษัท เนื่องจากการกู้เงินจากธนาคารในนามนิติบุคคลติดเงื่อนไขที่ธนาคารไม่สามารถให้สินเชื่อต่อกิจการได้โดยตรง โดยการกู้ยืมเงินมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสินเชื่อที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิต หรือการลงทุนใหม่ ทั้งอาคาร โรงงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยธนาคารจะพิจารณาจัดรูปแบบของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย ประเภทการใช้วงเงิน และระยะเวลาการชำระคืนที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เช่น

  • สินเชื่อธุรกิจระยะสั้น เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ และเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ
  • สินเชื่อธุรกิจระยะยาว เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาการกู้เงิน 3 -10 ปี ขึ้นอยู่กับสถานะการเงิน และความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าแต่ละราย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น
  • ชำระหนี้เดิม (Refinance)
    ขยายกิจการ สร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม โรงงาน/อาคารสำนักงาน รวมทั้งการซื้อสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ อาทิ เครื่องจักรในการผลิต ยานพาหนะ และอุปกรณ์ต่างๆ
    ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อบ้านพักรับรอง ฯลฯ ซึ่งเป็นบริการที่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์และดอกเบี้ยเงินกู้ ยังถือเป็นค่าใช้จ่ายธุรกิจที่สามารถหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัทต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการและต้องมีความชัดเจนเป็นจริงด้วยว่า การที่กรรมการกู้ยืมงินแทนนิติบุคคล นั้น

1. เกิดขึ้นจริงและมีการรับรองจากบริษัท/ นิติบุคคล ในการที่ กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท / ห้างหุ้นส่วน

2. วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดำเนินงานของกิจการอย่างแท้จริง

3. มุ่งประโยชน์ในทางมุ่งค้าหากำไรเพื่อกิจการ

4. บริษัท/นิติบุคคลได้รับประโยชน์โดยตรง

การที่กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัทต้องไม่เป็นการกู้ยืมมาเพื่อส่วนตัวกรรมการ หรือกู้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ

ดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่

รายจ่ายดอกเบี้ย จากการที่กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัทจะเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี โดยกิจการต้องดำเนินการดังนี้

1.มติที่ประชุมของนิติบุคคลแจ้งความจำเป็นให้กรรมการไปกู้เงินธนาคารแทนกิจการ

2.สัญญากู้เงิน

2.1 คู่สัญญาระหว่าง ธนาคารกับกรรมการ
2.2 คู่สัญญาระหว่าง กรรมการกับกิจการ

3. หลักฐานการรับเงินกู้ยืมและการบันทึกบัญชีเจ้าหนี้

4. หลักฐานที่กิจการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร

การจ่ายชำระดอกเบี้ยตามงวด

1.ใบสำคัญจ่าย ที่ระบุการจ่ายเงินไปยังธนาคารโดยตรงจากกิจการ

(ก) สำเนาเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ซึ่งขีดฆ่าผู้ถือและ ขีดคร่อม A/C Payee only ที่มีหลักฐานว่าได้ตัดบัญชี Bank statement ของผู้จ่ายเงินแล้ว หรือ

(ข) สำเนาใบโอนเงินผ่านธนาคารหรือช่องทาง อิเล็กทรอนิกส์อื่น

2.ใบเสร็จรับเงินจากธนาคาร ตรงกับวันที่จ่ายเงิน ในกรณีใบเสร็จรับเงินจากธนาคารจะเป็นชื่อกรรมการ ระบุถึงดอกเบี้ย และเงินต้นที่ชำระ

 

ตัวอย่างข้อหารือ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/3461

วันที่ : 28 เมษายน 2549

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรรมการบริษัทกู้เงินธนาคาร

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ :

บริษัทฯ ได้กู้เงินจากธนาคาร โดยใช้ชื่อกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้กู้ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
นาย ก. และนาย ธ. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ได้กู้เงินจากธนาคารโดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของนาย ก. จดทะเบียนจำนองการกู้ยืมเงิน และได้นำเงินที่กู้ยืมเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทฯ เพื่อปลูกสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนาย ก. โดยใบอนุญาตก่อสร้างเป็นชื่อของบริษัทฯ การที่ใช้ชื่อกรรมการเป็นผู้กู้ยืมเงินดังกล่าวเนื่องจากบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นใหม่ฐานะทางการเงินยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของธนาคารจึงต้องใช้ชื่อของกรรมการบริษัทฯ กู้เงินไปก่อน

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

(1) บริษัทฯ มีสิทธินำใบรับค่าดอกเบี้ยนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่ อย่างไร (หากมีเอกสารอ้างอิงถึงการนำเงินกู้มาใช้เป็นค่าก่อสร้างอาคาร เช่น รายละเอียดการอนุมัติเงินกู้จากทางธนาคารที่ระบุงบที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนของการก่อสร้างอาคารของบริษัทฯ รายงานการประชุมการกู้เงินของกรรมการบริษัทฯ หนังสือจากธนาคารที่ระบุถึงการที่นิติบุคคลกู้ร่วมกับบุคคลธรรมดาไม่ได้ เป็นต้น
(2) ใบรับค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการจดจำนองจากกรมที่ดิน กรณีใบรับใช้ชื่อเดียวกับใบรับตาม (1) สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย :

1. กรณีค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามข้อเท็จจริงกรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้กู้ยืมเงิน จากธนาคารเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร ใช้เป็นสถานประกอบ กิจการของบริษัทฯ โดยการปลูกสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินที่ บริษัทฯ ได้เช่ามาจากกรรมการฯ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าวและ เงินที่กู้มาจากธนาคารก็ได้มีการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้รับรองว่า เป็นการกู้ยืมในนามของบริษัทฯ ตามบันทึกรายงานการประชุมของผู้ถือหุ้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมโดยตรง ซึ่งบริษัทฯ ต้องร่วมรับผิด ในการกู้ยืมเงินนั้นด้วย ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ โดยตรง แต่เนื่องจากได้จ่ายไปในระหว่างการก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคาร ใช้การได้ตามสภาพ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่ง ประมวลรัษฎากร จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปรวม คำนวณเป็นมูลค่าอาคาร เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารนั้นใช้การได้ตามสภาพ บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องจ่ายได้

2. กรณีค่าธรรมเนียม และค่าอากรในการจดทะเบียนจำนอง ตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีกรรมการนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนอง ซึ่งเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อปลูกสร้างอาคารใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรในการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว หากปรากฏหลักฐานเป็นค่าใช้จ่ายของกรรมการบริษัทฯ ผู้จดทะเบียนจำนอง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่อาจนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/4071

วันที่ : 15 กรกฎาคม 2551

เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทจ่ายแทนกรรมการ

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

บริษัทฯ มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการไม่เพียงพอ และไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารเพิ่มเติมได้อีก ที่ประชุม คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้กรรมการเป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารโดยนำหลักทรัพย์ส่วนตัวไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำเงิน มาให้บริษัทฯ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท โดยบริษัทฯ เป็นผู้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ธนาคารแทน กรรมการ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า จะนำรายจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ชำระให้ธนาคารแทนกรรมการดังกล่าว มาเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

หากบริษัทฯ มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า กรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ และเงินที่กู้มาจากธนาคารได้มีการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบริษัทฯ รวมทั้ง บริษัทฯ ได้รับรองว่า เป็นการกู้ยืมเงินในนามของบริษัทฯ และบริษัทฯ เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมโดยตรง บริษัทฯ จึงจะมีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทฯ จ่ายแทนกรรมการมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด