กฎหมาย e-Service คืออะไร
กฎหมาย e-Service หรือ ภาษี e-Service คือ วิธีการจัดเก็บ VAT จากผู้ให้บริการต่างประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการทาง Online แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่มีรายได้จากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยให้อำนาจกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ ในอัตรา 7% ต่อปี ซึ่งให้เสียภาษีจาก “ภาษีขาย” โดยไม่ให้นำภาษีซื้อมาหัก
เริ่มใช้เมื่อไหร่
มีผลบังคังใช้ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป โดยได้เผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
ธุรกิจประเภทใดที่เกี่ยวข้อง
บริการทางอิเล็กทรอนิกส์
คือ บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบผ่านทางอินเทอเน็ต หรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นโดยบริการดังกล่าวสามารถทำได้ หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น หนัง เพลง เกม
อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ แก่ผู้รับบริการ” เช่น Google Facebook Youtube Line Joox Netflix และอื่น ๆ รวมถึงผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมออนไลน์, แอพพลิเคชั่น สติ๊กเกอร์ และสื่อโฆษณา เป็นต้น
กิจการจ่ายเงินค่าโฆษณาให้ Facebook Google IG Youtube Line@ สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ต้องทำอย่างไรบ้าง
- ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของกิจการ
- หลักฐานการจ่ายจ่ายค่าโฆษณาต้องชัดเจนและมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับและเป็นการชำระหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการ
- กิจการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) และมีสิทธินำใบกำกับภาษีซื้อมาใช้ได้
- บริษัทฯ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ของวันที่ได้ทำการชำระเงินค่าบริการจริงในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากร
เลขที่หนังสือ : กค 0706/10491
วันที่ : 17 ตุลาคม 2550
เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/2 มาตรา 85/6(2) มาตรา 41 มาตรา 80/1(2) มาตรา 70 มาตรา 80 มาตรา 40(8) มาตรา 40(2) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
1. บริษัท ด. ประกอบกิจการเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อลูกค้าของบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทฯ ทำกราฟฟิกดีไซน์ พัฒนาโปรแกรมซอฟท์แวร์ ทำการตกลงเกี่ยวกับการบริการและขอบเขตการดำเนินงานตลอดจนราคาแล้ว บริษัทฯ จะติดต่อผู้รับจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในประเทศอินเดียให้ดำเนินการอีกทอดหนึ่ง หลังจากที่ผู้รับจ้างทำงานเสร็จและส่งมอบงานแล้ว บริษัทฯ จะส่งมอบงานให้ลูกค้าและเรียกเก็บเงินต่อไปโดยผู้รับจ้างไม่มีลิขสิทธิ์ในงานที่ทำ จึงขอทราบว่า
1.1 การจ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในประเทศอินเดียนั้นจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
1.2 กรณีบริษัทฯส่งงานดังกล่าวให้กับลูกค้าในต่างประเทศโดยลูกค้าจะได้รับลิขสิทธิ์เต็มตลอดจน ซอร์สโคด (Source Code) ในโปรแกรมดังกล่าว ค่าบริการที่บริษัทฯ ได้รับจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. การชำระค่าโฆษณาและการรับชำระค่าโฆษณา กรณีลูกค้าอยู่ประเทศไอร์แลนด์
2.1 ในทุก ๆ เดือน บริษัทฯ จะชำระค่าโฆษณาใน Search engine ให้กับ บริษัท G. ในประเทศไอร์แลนด์ บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2.2 บริษัทฯ ได้ให้ G. ใช้พื้นที่ Website บางส่วนของบริษัทฯ ในการโฆษณา จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
3. บริษัทฯ ได้ซื้อ License Keys และ Support Contracts จากบริษัท ล. โดยบริษัทฯ จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ใน โปรแกรมนี้ นอกจากการมีสิทธิในการขายให้กับลูกค้าเท่านั้น กรณีของSupport Contracts นั้น ในปีแรกไม่มีค่าบริการ ในปีถัดไปหากลูกค้าไม่ซื้อ Support Contracts ลูกค้าจะไม่ได้รับบริการใด ๆ เช่น ไม่มีสิทธิในการอัพเกรดโปรแกรม แต่ลูกค้ายังคงใช้โปรแกรมเก่าที่มีอยู่ต่อไปได้ การจ่ายค่า License Keys ให้กับบริษัท ล. จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ส่วนค่าบริการ Support Contracts นั้น บริษัท ล. ตกลงให้บริษัทฯ หักภาษี ณ ที่จ่ายจากใบแจ้งหนี้ก่อนที่บริษัทฯ จะชำระเงิน จึงขอทราบอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนวิธีคำนวณภาษี
4. บริษัทฯ เช่าเครื่องเครือข่ายเว็บ (Web Server) จากบริษัท ร. ประเทศอเมริกาและในบางกรณีลูกค้าต้องการเอกสารที่ยืนยันการใช้เครือข่ายนี้ จึงจำเป็นต้องซื้อ SSL Certificates ด้วยเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าของบริษัทฯ ที่ต้องการ (SSL Certificates มีอายุ 1 ปี) จึงขอทราบว่า จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อัตราใด
5. บริษัทฯ ได้วางเงินล่วงหน้าไว้จำนวนหนึ่งให้แก่ T ประเทศแคนาดา เพื่อชำระค่าโดเมน บริษัทฯ จะติดต่อขอซื้อไปยัง T โดย T จะหักเงินที่บริษัทฯ ได้วางไว้ล่วงหน้านั้นตามจำนวนที่ลูกค้าซื้อ (โดเมนจะต้องต่ออายุทุกปี) จึงขอทราบว่า อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อโดเมน
6. บริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าบริการให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลในฮ่องกงสำหรับการจัดการวางแผนทางการตลาดจัดการในการขายสินค้า หรือบริการที่บริษัทฯ ได้โฆษณาในเว็บไซต์ จึงขอทราบอัตราภาษีหัก ณที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม
7. บริษัทฯ จ้างคนไทยและหรือคนต่างชาติทำงานโดยงานที่ทำและการจ่ายเงินจะมีลักษณะเป็นเรื่อง ๆ ไป ประเภทของงานจะเปลี่ยนแปลงไปไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับงานในช่วงนั้น ๆ ไม่มีกฎระเบียบเวลาทำงาน หรือรูปแบบในการทำงานและบริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่คนไทยและหรือคนต่างชาติเป็นค่านายหน้าจากการขาย จึงขอทราบว่า จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราใด
แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
1.1 ลูกค้าของบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัทฯ ทำกราฟฟิกดีไซน์ หมายถึงการออกแบบรูปภาพด้วยการใช้โปรแกรมทางด้านกราฟฟิก และพัฒนาโปรแกรมซอฟท์แวร์ หมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ จะติดต่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศอินเดียให้ดำเนินการอีกทอดหนึ่งเมื่อทำงานเสร็จและส่งให้บริษัทฯ ก็จะส่งงานให้กับลูกค้าโดยที่ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิในงานที่ทำกรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทำของ ถือเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างทำของมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีบริษัทฯ ว่าจ้างนิติบุคคลในประเทศอินเดียให้ทำกราฟฟิกดีไซน์ และพัฒนาโปรแกรมซอฟท์แวร์ การจ่ายค่าตอบแทนในการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจหากนิติบุคคลนั้นไม่มีสถานจัดการ สาขา สำนักงานในประเทศไทยก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับ
ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินเดียฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและนำส่งกรมสรรพากรแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่บริษัทฯ ว่าจ้างบุคคลธรรมดา ค่าตอบแทนในการให้บริการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร เพราะสัญญารับทำงานให้ของบุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศมิใช่สัญญา จ้างแรงงานซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศ ได้พำนักอยู่ในประเทศอินเดีย มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินบุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและไม่มีประเด็นพิจารณาว่า เป็นผู้อยู่ในประเทศซึ่งลงนามอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่แต่อย่างใด
1.3 กรณีลูกค้าในต่างประเทศจ้างบริษัทฯ ให้ทำกราฟฟิกดีไซน์ และพัฒนาโปรแกรมซอฟท์แวร์ ซึ่งบริษัทฯ ได้ติดต่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศอินเดียให้ดำเนินการอีกทอดหนึ่ง เมื่อทำงานเสร็จและ ส่งให้บริษัทฯ ก็จะส่งงานให้กับลูกค้าในต่างประเทศโดยลูกค้าจะได้รับลิขสิทธิ์เต็มตลอดจนซอร์สโคด ในโปรแกรมดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ กระทำกิจการอันเป็นสาระสำคัญของการรับจ้างทำของในประเทศไทย และได้ส่งผลของการให้บริการรับจ้างทำของไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด หากการรับจ้างดังกล่าวมีหลักฐานเป็นหนังสือ บริษัทฯ จะได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
2. กรณีตาม 2. การชำระค่าโฆษณาและรับชำระค่าโฆษณา มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
2.1 กรณีตามข้อ 2.1 บริษัทฯ จ่ายค่าโฆษณาใน Search engine ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตให้กับ G. ในประเทศไอร์แลนด์ เป็นกรณีที่ G. ลงโฆษณาให้กับบริษัทฯ ใน Search engine ซึ่งเป็นการให้บริการในต่างประเทศค่าตอบแทนกรณีการให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใดไม่ว่าผู้ให้บริการในต่างประเทศจะอยู่ในประเทศที่มีข้อตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ และหากการลงโฆษณาดังกล่าวบริษัทฯ ได้นำผลจากการโฆษณามาใช้ย่อมเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ให้บริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีตามข้อ 2.2 กรณีบริษัทฯ ให้ G. ใช้พื้นที่ Website บางส่วนของบริษัทฯ เพื่อโฆษณาตามข้อเท็จจริงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการอันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และกรณีการใช้พื้นที่ Website บางส่วนของบริษัทฯ เพื่อโฆษณา ซึ่งลูกค้าในประเทศไทยอาจใช้บริการเปิดข้อมูลเว็บไซต์จากการโฆษณานั้นได้จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมดแต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จ่ายค่า License Keys ซึ่งเป็นตัวเลขลิขสิทธิ์ของซอฟท์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ใช้สำหรับแพคเกจ ซอฟท์แวร์ “Info At Hand” ให้กับบริษัท ล. จากประเทศแคนาดาโดยที่บริษัทฯ จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ใน โปรแกรมนี้นอกจากการมีสิทธิในการขายให้กับลูกค้าเท่านั้นเป็นการได้สิทธิในการใช้โปรแกรมจากบริษัท ล. เพื่อนำมาหาประโยชน์กับลูกค้าของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่จ่ายให้แก่ บริษัท ล. ตาม มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศแคนาดาฯ และการจ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัท ล. เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีการให้บริการ Support Contracts หมายถึงสัญญาการให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิค เช่น การอัพเกรดโปรแกรม หากลูกค้าไม่ซื้อบริการดังกล่าวก็ยังสามารถใช้โปรแกรมเก่าต่อไปได้ การจ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัท ล.ในการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หากบริษัท ล.ไม่มีสถานจัดการ สาขา สำนักงานในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับตาม มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศแคนาดาฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และกรณีการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายค่าตอบแทนมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
4. กรณีตาม 4. บริษัทฯ เช่าเครื่องเครือข่ายเว็บ (Web Server) ซึ่งใช้เก็บเว็บไซด์และซื้อ SSL Certificates ซึ่งเป็นไฟล์พิเศษที่ติดตั้งไว้ในเครื่องเครือข่ายในการช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ว่ากำลังเชื่อมต่ออยู่กับ เครื่องเครือข่ายที่ถูกต้อง จากบริษัท ร. ประเทศสหรัฐอเมริกา อันมีลักษณะการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมีการลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าตอบแทนดังกล่าวให้กับบริษัท ร. จึงเข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และการให้บริการดังกล่าวมี ลักษณะเป็นการให้บริการซึ่งผู้ประกอบการได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรเมื่อบริษัทฯ ชำระค่าบริการไปต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ที่ผู้ประกอบการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
5. กรณีตาม 5. บริษัทฯ ซื้อโดเมน ซึ่งใช้ระบุเป็นชื่อของเว็บไซด์หนึ่งๆ และไม่สามารถใช้ซ้ำกันได้ จาก T ประเทศแคนาดา การให้บริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้บริการซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมีการลงทุนค่อนข้างสูง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าตอบแทนให้กับ T จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และการให้บริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการบริการซึ่งผู้ประกอบการได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าบริการไปต่างประเทศ บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษี มูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ที่ผู้ประกอบการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
6. กรณีตาม 6. บริษัทฯ จ่ายเงินค่าจัดการวางแผนทางการตลาด จัดการในการขายสินค้าหรือบริการที่โฆษณาในเว็บไซต์ ให้กับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ หากการให้บริการดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ที่เป็นการให้เทคโนโลยีหรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าบริการให้กับนิติบุคคลในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ซึ่งไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยจึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยง รัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 แต่การชำระค่าบริการในกรณีดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และ ได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการชำระค่าบริการให้กับบุคคลธรรมดา ค่าตอบแทนในการให้บริการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากรแต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศซึ่งพำนักอยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินบุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในประเทศไทยแต่อย่างใด ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
7. กรณีตาม 7. กรณีบริษัทฯ จ้างคนไทยและหรือคนต่างชาติให้ทำงานโดยงานที่ทำและการจ่ายเงินจะมีลักษณะเป็นรายๆ ไปรวมทั้งประเภทของงานจะเปลี่ยนแปลงไปไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับงานในช่วงนั้นๆ ไม่มีกฎระเบียบ เวลาทำงานหรือรูปแบบในการทำงาน และกรณีค่านายหน้าเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และหากเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศและมีอนุสัญญาหรือ ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทยแล้ว ค่านายหน้าถือเป็นกำไรจากธุรกิจเมื่อไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย แต่อย่างใด