นิยามของคำว่า “สถานประกอบการ”
ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร “สถานประกอบการ” หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำและให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิต หรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย
บริษัทมีโกดัง คลังสินค้า หรืออาคารให้เช่า
กรณีมีคลังสินค้าหลายแห่งเพื่อประกอบกิจการให้เช่า หากคลังสินค้าแห่งใดไม่มีสำนักงานรับติดต่อลูกค้า และให้บริการลูกค้า คลังสินค้าแห่งนั้นยังไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการสาขา จึงไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่มเติมสาขา สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นที่คลังสินค้าที่มิใช่สถานประกอบการสาขา ให้สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการสาขาที่เป็นผู้รับผิดชอบนำภาษีซื้อไปใช้ได้ ทั้งนี้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 ดังนี้
ข้อ 15 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีการดำเนินงาน ณ สถานที่อื่นซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกต้อง แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ หรือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งอื่นซึ่งจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการ
ตัวอย่าง
(1) บริษัท ก.จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตพญาไท ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่เขตบางพลัด บริษัทฯไม่ได้ใช้พื้นที่ของอาคารที่ให้เช่าเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ณ อาคารที่ให้เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้ เมื่อบริษัทฯเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่า บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
(2) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตปลากระป๋อง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตบางซื่อ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง บริษัทฯก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานที่จังหวัดระยองดำเนินงานด้านการก่อสร้างและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา ณ สถานที่ก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้าง บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานที่จังหวัดระยองได้
(3) บริษัท ก.จำกัด เช่าสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าซึ่งต้องมีกระแสไฟฟ้าส่องป้าย บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ณ สถานที่เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./6114
วันที่ : 11 สิงหาคม 2553
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนสาขา
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัท น.ได้ซื้อห้องชุดจำนวน 20 ห้อง ซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกัน และชั้นเดียวกัน โดยบริษัทฯ ได้ใช้เป็นสถานประกอบการ จำนวน 1 ห้อง ส่วนอีก 19 ห้องที่เหลือได้ให้บุคคลภายนอกเช่า และนำมาเป็น รายได้ของกิจการ ซึ่งบริษัทฯ ได้บันทึกห้องชุดทั้ง 20 ห้องเป็นทรัพย์สินและมีการจัดทำระเบียนทรัพย์สินเรียบร้อย จึงขอหารือดังนี้
1. บริษัทฯ ควรไปจดทะเบียนเพิ่มสาขา โดยนำห้องชุด 19 ห้อง ที่ให้เช่าไปจดทะเบียนเพิ่มสาขาทั้งหมด 19 สาขา คือ สาขาละ 1 ห้อง ซึ่งหากจดเพิ่มสาขาบริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 แยกเป็น รายสาขา หรือยื่นแบบ ภ.พ. 06 ขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน
2. หากบริษัทฯ ไม่จดเพิ่มสาขา บริษัทฯ ก็จะต้องดำเนิน การแก้ไขที่อยู่ของสถานประกอบการ โดยให้ระบุเลขที่ห้องชุดอีก 19 ห้องใส่เป็นที่อยู่ของสถานประกอบการด้วย
แนววินิจฉัย
“สถานประกอบการ” ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวล รัษฎากร หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการ เป็นประจำ และให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือ เก็บสินค้าเป็นประจำด้วย ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริง หากบริษัทฯ มิได้ใช้ห้องชุด 19 ห้องดังกล่าว เพื่อประกอบกิจการเป็นประจำ ย่อมไม่ เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นสาขาเพิ่มเติมแต่อย่างใด้